โรคสะเก็ดเงิน คือ โรคผิวหนังเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ จากสถิติพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ 2-4 ของประชากรทั่วโลก เป็นโรคไม่ติดต่อพบได้ทุกเพศทุกวัยและทุกเชื้อชาติทั่วโลก สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุมกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและการพัฒนาการของผิวหนังไม่สมบูรณ์ เป็นโรคผิวหนังที่ถายทอดทางพันธุกรรม ถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นหวัด ความเครียด อาการที่พบคือเป็นผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจนมีสะเก็ดสีเงินปกคลุม เมื่อขูดสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง มักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ศีรษะมีผื่นแดงลอกเป็นขุยขาวๆ คล้ายรังแค อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เล็บ เช่น มีเล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อน ลอกเป็นขุยขาวหรือเป็นหลุมเล็กๆ บริเวณผิวเล็บ และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย
โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เกิดจากเม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ ทำให้ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น มีอาการคัน ผื่นแดงหนา มีขุยสีขาวคล้ายรังแค กระจายตามส่วนต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ ศอก เข่า หรือตำแหน่งที่มีการเกาเสียดสี ส่งผลต่อบุคลิกภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างความรำคาญ สูญเสียความมั่นใจ หากปล่อยเรื้อรัง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิด โรคสะเก็ดเงิน
ถึงแม้ว่าการเกิด โรคสะเก็ดเงิน จะยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่จากการศึกษาเชื่อว่าการอาจมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวเนื่องกัน อย่างเรื่องของพันธุกรรม , ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ตลอดจนปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ ร่วมกับมีลักษณะของการอักเสบจึงทำให้เป็นปื้น หรือเป็นแผ่นหนา แดง มีการคัน และตกสะเก็ด
โดยปกติของคนทั่วไปแล้ว เซลล์ผิวหนังในชั้นกำพร้าจะมีการเกิดใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาเพื่อทดแทนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดที่แก่ตัวตายและหลุดลอกออกไปเป็นวัฏจักร ซึ่งเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่นี้จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนผิวหนังชั้นนอกสุด 26 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน จะมีการแบ่งตัวตรงบริเวณรอยโรค หรือมีการงอกของเซลล์ผิวใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาชั้นนอกสุดใช้เวลาเพียงแค่ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกไม่ทันกับการงอกใหม่ ทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่ม หรือปื้น อีกทั้งยังมีเกล็ดสีเงินปกคลุมที่หลุดลอกได้ง่าย
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่เกิดขึ้นทางพันธุกรรมโดยมีแบบแผนการถ่ายทอดไม่ชัดเจน โดยพบว่า หากบิดาและมารดาเป็นโรคนี้ บุตรที่เกิดมาก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 65 – 83% แต่หากบิดาและมารดาที่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค โอกาสของบุตรที่เกิดมาแล้วมีความเสี่ยงจะเป็นโรคสะเก็ดเงินก็ลดลงเหลือเพียง 28 – 50% หรือ หากมีพี่น้องในครอบครัวคนใดที่เป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่ได้เป็น บุตรคนถัดไปที่เกิดมาก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากถึง 24% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่ได้เป็นโรคนี้เลย บุตรที่เกิดมาก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้น้อยลงเหลือเพียง 4%
การรักษาโรคสะเก็ดเงินต้องวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคกำเริบ กรณีเป็นผื่นไม่มากรักษาด้วยการใช้ยาทา หากอาการไม่ดีขึ้น อาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจใช้ยารับประทานร่วมด้วย ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ส่วนผื่นที่หนังศีรษะควรใช้แชมพูยาที่มีส่วนผสมของ TAR ร่วมกับการทายา และควรดูแลตัวเองด้วยการทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเนื่องจากจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ เช่น ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด ดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่นจะทำให้เลือดออก และควรเลือกใช้สบู่อ่อนๆ รวมถึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เป็นหวัด ไม่เครียด