ความน่าสนใจในการรักษาโรคนั้น สาร THC ในกัญชามีผลทำให้เกิดการเมา ง่วงนอน อ่อนเพลียแรง ในขณะที่สาร CBD ในกัญชาไม่ได้ทำให้เกิดการมึนเมาเลย แต่กลับเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาท ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการสารไหนเพื่อทำอะไรมากกว่ากัน เช่น การรักษาผู้ป่วยมะเร็งมักจะให้ความสนใจในสาร THC มากกว่าสาร CBD แต่ถ้าสนใจในเรื่องการช่วยเหลือเรื่องโรคลมชัก พาร์กินสัน และอาการสมองเสื่อมก็ต้องให้ความสนใจในสาร CBD มากกว่า THC กัญชาแต่ละสายพันธุ์นั้นให้สาร THC และ สาร CBD ไม่เท่ากัน นอกจากนั้น ความเข้มข้นของสารในน้ำมันกัญชาจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่สกัดมาด้วย ดังนั้น เมื่อความหลากหลายเกิดขึ้น จึงทำให้เกิดความสับสนสำหรับผู้ที่จะใช้น้ำมันกัญชาเพื่อรักษาโรคอยู่ไม่น้อย
คนไทยที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนยาก ใช้เวลานานกว่าจะเริ่มหลับได้ นอนไม่ต่อเนื่อง ตื่นบ่อยกลางดึก ตื่นแล้วไม่หลับ หรือตื่นเช้าเกินไปทำให้นอนไม่พอ ได้รับข้อมูลว่าน้ำมันกัญชาจะช่วยให้หลับเร็วขึ้น เพิ่มระยะหลับลึก ลดระยะหลับฝัน และทำให้หลับได้นานขึ้น จึงหันมาทดลองใช้
น้ำมันกัญชา
ปรากฏว่าในบางคน หลังหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นก่อนนอน แทนที่จะหลับ กลับตื่น มีประสาทหลอน คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ มาเข้าห้องฉุกเฉินกลางดึกนับ 10 รายช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เราจึงต้องทำความเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
น้ำมันกัญชามีสารเคมีมากกว่า 100 ชนิด สารที่สำคัญ 2 ชนิดคือ ทีเอชซี (THC) ซึ่งเป็นสารเสพติด และ ซีบีดี (CBD) ไม่ใช่สารเสพติด ฤทธิ์ของน้ำมันกัญชาต่อการนอนหลับขึ้นกับปริมาณ ความเข้มข้น และสัดส่วนของทีเอชซี (THC) ต่อซีบีดี (CBD) ให้ในรูปแบบไหน หยดใต้ลิ้น กินเป็นเม็ด หรือเหน็บทวารหนัก ให้เวลาไหน และความไวของแต่ละคนต่อสารทั้ง 2 ชนิด ผลลัพธ์ของน้ำมันกัญชาต่อการนอนหลับของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน ความรู้เรื่องผลของน้ำมันกัญชาต่อการนอนของคนไทยในปัจจุบันยังค่อนข้างจำกัด
ถ้าใช้น้ำมันกัญชาที่มีสารทีเอชซี (THC) สูง และมีสัดส่วนมากกว่าซีบีดี ( CBD) หลายเท่า จะมีผลต่อระบบประสาท ทำให้ตื่นและมีประสาทหลอน แทนที่จะง่วงนอน สารซีบีดี (CBD) ต้านฤทธิ์ของทีเอชซี (THC) มีประโยชน์ช่วยลดความวิตกกังวลทำให้หลับง่ายขึ้น และนอนหลับได้นานขึ้น คนที่มีประสาทหลอนหลังหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นมาห้องฉุกเฉินแสดงว่าน้ำมันกัญชาที่ใช้มีความเข้มข้นของสารทีเอชซี (THC) สูง และสารซีบีดี ( CBD) ต่ำ มีผลยืนยันในผู้ป่วยหนึ่งรายที่วัดระดับทีเอชซี (THC) ในเลือดหลังหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้น พบค่าทีเอชซี (THC) ในเลือดสูงมาก ไม่เหมาะกับการนำมาใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ
ในอนาคตถ้าเรามีกรรมวิธีสามารถสกัดซีบีดี (CBD) ให้ได้มากขึ้น และลดสารทีเอชซี (THC) ให้น้อยลง การนำซีบีดี (CBD) ขนาดสูงมารักษาโรคนอนไม่หลับในระยะสั้นอาจมีประโยชน์
ข้อเสียของน้ำมันกัญชาอีกอย่างหนึ่งคือ ระยะแรกถ้ากินแล้วนอนหลับดีขึ้น ต่อไปอาจต้องเพิ่มขนาดน้ำมันกัญชาเพราะจะทนต่อยา และหากหยุดน้ำมันกัญชาจะมีปัญหานอนไม่หลับ และคุณภาพของการนอนหลับแย่ลงต่อเนื่อง บางคนนานถึง 45 วัน คนที่นอนไม่หลับควรใช้วิธีปรับพฤติกรรม มีสุขอนามัยการนอนหลับ เข้านอนตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน หลีกเลี่ยงแสงเข้าตา เช่น แสงจากโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ช่วงใกล้เวลาเข้านอน ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลานอน ไม่ควรอาบน้ำอุ่นใกล้เวลานอน เพราะอาจเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่ใกล้เวลานอน หลีกเลี่ยงการงีบช่วงกลางวัน หลีกเลี่ยงการดื่มชากาแฟน้ำอัดลมที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ไม่คิดวิตกกังวล ไม่ทะเลาะโต้เถียงก่อนเข้านอน ถ้าเข้านอนแล้วนอนไม่หลับภายใน 20 นาที อย่าฝืนนอนต่อให้ลุกออกจากเตียงไปทำกิจกรรมที่เงียบสงบ ทำสมาธิ เมื่อง่วงแล้วจึงกลับมานอนต่อ หลังจากปรับความคิดและพฤติกรรมแล้ว ยังนอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์